
นับตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2559 เวลา 19.00 น. ชีวิตและหัวใจของประชาชนชาวไทยต้องสั่นเทาไปด้วยความโศกเศร้าเสียใจ ต่อการเสด็จสู่สวรรคาลัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ภาครัฐและเอกชนรวมถึงประชาชนต่างร่วมใจถวายความอาลัย ด้วยการแต่งกายไว้ทุกข์ ลดธงชาติครึ่งเสา และงดกิจกรรมซึ่งแสดงถึงความรื่นเริงต่างๆ เป็นเวลา 30 วัน งานฉลองต่างๆที่ได้มีการตระเตรียมไว้แล้ว ย่อมได้รับผลจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นงานภาคองค์กรต่างๆ หรืองานฉลองสมรส และ "ดนตรี" ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นส่วนสำคัญของงานเหล่านี้ จัดอยู่ในกลุ่มการแสดงมหรสพหรือการละเล่นรื่นเริง ก็ได้รับผลจากเหตุการณ์นี้โดยตรงเช่นกัน
แต่ถึงแม้จะอยู่ระหว่างช่วงของการถวายความอาลัย รัฐบาลก็มิได้สั่งห้ามจัดงาน ยังคงอนุญาตให้มีการดำเนินกิจกรรมต่างๆได้ตามปกติ เพียงแต่ขอความร่วมมือให้จัดอย่างสำรวมและไม่เอิกเกริกจนเกินงาม ในส่วนของดนตรีก็จำเป็นต้องมีการปรับรูปแบบเพื่อความเหมาะสมและสำรวม จากประสบการณ์ของทีมงาน จึงจะมาแนะนำแนวทางการปรับรูปแบบของดนตรีสำหรับงานฉลองสมรส หรืองานภายในต่างๆ ดังนี้ค่ะ
1. ปรับรูปแบบของอารมณ์เพลง และการนำเสนอ
สำหรับงานฉลองสมรส เพลงที่ใช้มักเป็นดนตรีสบายๆ และมีความหมายดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องปรับมากเท่าไหร่นัก แต่เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน วงดนตรีและบ่าวสาว ควรมีการพูดคุยถึงรูปแบบดนตรีที่จะเป็นไป โดยปรับการเล่นเป็นอะคูสติกเบาสบาย ไม่ใช้ Sound ดนตรีที่หนักหน่วงหรือมีจังหวะสนุกสนานครื้นเครง มีการเล่นบรรเลงสลับการร้องเป็นช่วงๆเพื่อผ่อนหนักผ่อนเบาทางอารมณ์
2. ปรับเปลี่ยนรูปแบบของเครื่องดนตรีที่ใช้
สำหรับบางงานที่เจ้าภาพมีความต้องการปรับรูปแบบเครื่องดนตรีที่ใช้ เช่น เปลี่ยนไปใช้วงเครื่องสายคลาสสิก หรือ เปลี่ยนจากกลอง เป็นเครื่องเป่า สามารถทำได้เช่นกัน แต่ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนเครื่องดนตรีเป็นรูปแบบไหน สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้บรรเลงว่าสามารถบรรเลงออกมาได้เหมาะสมหรือไม่ เรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของนักดนตรีเป็นหลัก และก่อนตัดสินใจเปลี่ยนควรแจ้งให้วงดนตรีทราบก่อนเพื่อตรวจสอบคิวงานใหม่อีกครั้ง
3. คัดเลือกบทเพลงที่มีความหมายกลางๆ ไม่กระทบกระเทือนต่ออารมณ์ผู้ฟังจนเกินไป
สำหรับวงดนตรีที่จำเป็นต้องบรรเลงดนตรีในช่วงเวลานี้ ส่วนมากจะมีการอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาบรรเลงเป็นบทเพลงแรกของงาน ในหลายๆงานมีการบรรเลงและขับร้องด้วยบทเพลงพระราชนิพนธ์เกินครึ่งของทั้งหมด เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีของพระองค์ท่าน ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกอันดับต้นๆของงานที่มีดนตรีในช่วงถวายความอาลัย บทเพลงพระราชนิพนธ์ มีความไพเราะยิ่ง แต่ก็ซับซ้อน ต้องใช้เวลาฝึกฝนพอสมควร ต้องใส่ใจและบรรเลงอย่างละเอียดละไม เก็บรายละเอียดให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ และพึงวางตนบรรเลงอย่างสำรวมและเหมาะสม นอกเหนือจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ ก็ยังคงสามารถเสริมด้วยบทเพลงอื่นๆที่เหมาะสมต่อได้ โดยควรเป็นเพลงที่มีความหมายเชิงให้กำลังใจ ให้แง่คิดที่ดี ไม่ควรเป็นเพลงที่ฟังแล้วหม่นหมอง หรือสุขรื่นเริงจนเกินพอดี สำหรับงานแต่งงาน ถึงแม้จะเป็นงานมงคลที่ต้องมีความสุข แต่ก็ต้องอยู่ในระดับที่พอดี เพราะในสภาวะช่วงนี้อารมณ์ของแขกในงานย่อมมีความเปราะบางและรู้สึกหลากหลายกันไป จึงต้องพึงระวังการนำเสนอให้เหมาะสมค่ะ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงคำแนะนำส่วนหนึ่งจากทีมงานนะคะ สุดท้ายแล้วการปรับเปลี่ยนทุกอย่างขึ้นอยู่กับความสบายใจของเจ้าภาพและความเหมาะสมตามเห็นสมควรค่ะ นักดนตรีและศิลปินที่มีความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง จะสามารถเข้าใจสภาวะการณ์ช่วงนี้ และพิจารณาปรับรูปแบบการนำเสนอดนตรีได้ด้วยตนเองค่ะ
ถึงแม้ดนตรี อาจจะดูเป็นสัญลักษณ์ของความรื่นเริง แลไม่เหมาะสมที่จะมีในช่วงนี้ แต่ "ดนตรี" นี่แหละค่ะ ที่จะเป็นสิ่งเยียวยาจิตใจของทุกคน ให้ฟื้นฟูจากความเศร้าโศก และ "ดนตรี" เองก็จะเป็นเครื่องถ่ายทอดเรื่องราวของพระองค์ท่านไปสู่ลูกหลาน รวมถึงเผยแพร่พระบารมี พระปรีชาสามารถ และพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ท่านมีต่อพสกนิกรมาตลอด 70 ปีอีกด้วยค่ะ
"ดนตรี" จะยังคงทำหน้าที่ต่อไป และขอให้ "ดนตรี" ได้เชื่อมโยงความรักของคนไทยทุกคนเป็นหนึ่งเดียว ดั่งที่พ่อหวังไว้เช่นกัน
